top of page

"Why We Burn"

เข้าฤดูแล้งได้ไม่นาน เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่นเป็นอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว ไฟป่าและการเผาในที่โล่งคือประเด็นสำคัญที่หลายคนคิดว่าทำให้ค่าฝุ่นเกินระดับปลอดภัย


หลายปีที่ผ่านมาผมติดตามศึกษาและถ่ายภาพการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือ โดยการทำไร่หมุนเวียนมีกระบวนการหนึ่งที่สำคัญมากต่อการเพาะปลูกนั่นคือ “การเผาไร่” ซึ่งทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายป่าและก่อให้เกิดฝุ่นควัน

ชาวบ้านจะถางต้นไม้ในไร่ที่ปล่อยร้างให้ต้นไม้เติบโต เมื่อครบ 7 ปี ต้นไม้จะสะสมแร่ธาตุไว้ในทุกส่วน พื้นดินเก่าแก่ของภูมิภาคนี้เป็นดินจืด จึงต้องอาศัยการเผาพืชและต้นไม้ที่สะสมธาตุอาหารไว้ให้เป็นขี้เถ้าที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้การทำไร่หมุนเวียนจึงหลีกเลี่ยงการเผาไม่ได้เลย และนี่เองที่เป็นประเด็นให้หลายคนมองว่ากะเหรี่ยงเป็นผู้แผ้วถางและเผาป่า หากแต่ในรายละเอียดของการถางและเผาไร่เพื่อทำไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงนั้นมีขั้นตอนและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างลึกซึ้ง พวกเขาไม่ได้เผาไร่แล้วปล่อยให้ไฟลามออกไปในป่า แล้วก็ไม่ยอมให้ไฟป่ามาถึงไร่ของเขาก่อนจะถึงเวลาอันสมควรที่จะเผา พวกเขาจะเริ่มถางไร่และทำแนวกันไฟป่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แนวกันไฟนี้จะป้องกันไฟจากที่อื่นไม่ให้เข้ามาในป่าของชุมชนและเข้าไปในพื้นที่ที่จะทำไร่ ทุกค่ำคืนชาวบ้านจะมีเวรยามเฝ้าอยู่ตรงจุดเสี่ยงไฟป่าตลอดแนวกันไฟ “ไม่มีใครอยากให้ไฟมาไหม้ที่ทำกินของตัวเองหรอก” ข้อความสั้นๆจากชาวบ้านคนหนึ่ง

“ไม่มีใครอยากให้ไฟมาไหม้ที่ทำกินของตัวเองหรอก”

จากนั้นในช่วงเดือนเมษายนก่อนฝนแรกจะมา พวกเขาจะทำแนวกันไฟรอบพื้นที่ทำไร่ เพื่อไม่ให้ไฟลามออกไปจากไร่ของพวกเขา แล้วจึงเริ่มกระบวนการเผา การเผาจะเริ่มจากด้านบนลงมาจนถึงกลางไร่แล้วค่อยเผาจากด้านล่างขึ้นไปเพื่อให้ไฟเข้ามารวมกันที่ท้ายไร่ โดยจะดูทิศทางลมประกอบการเผาในแต่ละครั้งด้วย ใช้เวลาไม่นานราว 30 นาทีสำหรับไร่หมุนเวียนขนาดเล็ก(ไร่ของแต่ละครอบครัว) ในขณะที่ไร่หมุนเวียนขนาดใหญ่หรือไร่หมุนเวียนแปลงรวมที่ชาวบ้านทำไร่ติดกัน เช่น ไร่หมุนเวียนที่บ้านแม่เหยาะคี อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จะใช้เวลาเผาราว 45-60 นาที การเผาไร่ของกะเหรี่ยงนั้นจะรอให้ใกล้เข้าช่วงฝนแรกเสียก่อน เพื่อฝนจะช่วยลดฝุ่นควันจากการเผาและสามารถเริ่มการเพาะปลูกได้เลย โดยพืชบางชนิดนั้นจะเติบโตได้ดีในช่วงที่ดินยังอุ่นอยู่ เช่น ข้าวสาลีพันธุ์พื้นเมือง มันสำปะหลัง เผือก มัน แตงกวาพันธุ์พื้นเมือง ถั่วหลากหลายชนิด ซึ่งรอบๆไร่หมุนเวียนยังเป็นไร่เหล่าหรือไร่ที่ถูกทิ้งไว้ให้เป็นป่า ป่าเหล่านี้จะดูดซับคาร์บอนฯไว้ได้จำนวนมาก เพราะเป็นป่าที่มีต้นไม้เล็กขึ้นอยู่เยอะ ต้นไม้เล็กที่กำลังเจริญเติบโตนี้ต้องการคาร์บอนฯจำนวนมากเพื่อการสังเคราะห์อาหาร

การเผาไร่หมุนเวียนเป็นกระบวนการสำคัญในการเตรียมดินเพื่อเพาะปลูก หากขาดขั้นตอนนี้ไปการเพาะปลูกจะให้ผลผลิตที่ไม่ดี “ถ้าไม่ได้เผาไร่ ข้าวไม่พอกินครบปีแน่” หนุ่มกะเหรี่ยงพูดให้ฟังตอนพาผมเดินไปดูไร่ มันไม่ใช่เรื่องมักง่ายหรือว่าเอาสะดวก มันเป็นกลไกทางธรรมชาติที่มนุษย์ได้เรียนรู้และนำมาใช้ในชีวิต แน่นอนว่าการเผามันทำให้เกิดคาร์บอนฯ เกิดฝุ่นควันและมลพิษ แต่การจัดการมันอย่างเป็นระบบ และรู้ช่วงเวลาที่เหมาะสม มันทำให้ฝุ่นควันลดลงได้ การเผาแบบปล่อยให้ไหม้ไปทั้งป่าและการเผาไหม้โดยกิจกรรมของคนเมืองที่เผากันทั้งปีอย่างเราๆนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นควันด้วย ไม่ใช่แค่คนเผาโดยตรง แม้แต่การที่เราเป็นผู้บริโภคก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย เพราะการผลิตสิ่งที่เราบริโภคบางอย่างมันก็มีขั้นตอนของการเผาเช่นกัน มันเหมือนกับว่า “เรามองไม่เห็นฝุ่นที่เราปล่อยมันออกมา แต่เรามักเห็นฝุ่นที่คนอื่นปล่อยมากกว่าเสมอ”

แม้ช่วงนี้จะยังไม่ถึงช่วงเวลาเผาไร่ของกะเหรี่ยง แต่ค่าฝุ่นควันมันก็เกินมาตรฐานไปไกลแล้ว ทำให้เชียงใหม่มีค่าฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นอันดับหนึ่งของโลก ถึงเวลาที่เราต้องย้อนมามองอย่างเป็นระบบอีกครั้ง แบบที่เชียงใหม่เคยผ่านมันมาได้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยนักวิชาการเสนอไว้ว่าต้องแก้ปัญหาทุกแหล่งกำเนิด ทั้งการเผาในที่โล่ง การขนส่ง ยานพาหนะ การจราจร งานก่อสร้าง โรงระเบิดหิน ฯลฯ ไม่ใช่แค่การจัดการไฟป่าในพื้นที่โล่งอย่างเดียวเหมือนในตอนนี้ และสิ่งสำคัญคือการจัดการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและชาวบ้าน….

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://realframe.co/why-we-burn/

Text&Photos : ©CHALIT SAPHAPHAK / REALFRAME

Edited by Yostorn Triyos

e-mail : chalit.saphaphak@gmail.com


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page