"บัตรทอง" ที่พ่อไม่อยากใช้
ปลายเดือนพฤศจิกายนปี 2554 พ่อมีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง เราพาพ่อไปหาหมอในโรงพยาบาลประจำอำเภอด้วย “สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า” และไปตามคลินิคอีกหลายที่ เวลาผ่านเลยไปร่วมเดือนอาการยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ร่างกายอ่อนแรงลงเรื่อยๆ เรากลับไปพบหมอที่โรงพยาบาลประจำอำเภออีกครั้งและขออนุญาตส่งตัวไปตรวจยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่กลับได้รับการปฏิเสธ จนต้องมีปากเสียงกันกว่าจะได้รับการอนุญาต พ่อจึงถูกส่งตัวมาตรวจที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด
ในโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดของจังหวัดมีผู้ป่วยล้นหลาม ญาติผู้ป่วยอีกมากมายยืนรอนั่งรอกระทั่งบางคนหาที่นอนรอการตรวจรักษา พ่อนั่งรออยู่เงียบๆผ่านไปหลายชั่วโมงจึงได้เข้าตรวจ หมอตรวจอย่างรวดเร็วและมีคำสั่งให้ส่องกล้องแล้วตัดชิ้นเนื้อไปวินิจฉัย “คุณลุงมีเนื้อร้ายที่หลอดอาหาร เดี๋ยวผมนัดวันเจาะช่องท้องให้อาหารทางสายยางนะครับ” เป็นคำตอบของหมอหลังจากที่ส่องกล้องตรวจลำคอและนำชิ้นเนื้อไปตรวจ แม้ต้องรอนานแต่ผมคิดว่าโรงพยาบาลรัฐมีประสิทธิภาพอยู่ในมาตรฐานที่ดี
ร่างกายที่อ่อนแอลงทำให้ไม่อาจรักษาด้วยการผ่าตัด ให้เคมี หรือแม้แต่การฉายรังสี การผ่าตัดช่องท้องเพื่อให้อาหารทางสายยางจึงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ร่างกายฟื้นได้เพื่อการรักษาในขั้นต่อไป หลังเจาะช่องท้องแล้ว หมอส่งตัวพ่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี เราต้องเดินทางจากสุพรรณบุรีไปลพบุรีทุกสัปดาห์ ที่นี่มีเครื่องมือตรวจรักษาที่ทันสมัย มีระบบบริการที่ดี ผู้ป่วยมะเร็งมาจากหลายที่หลายจังหวัด ผู้ป่วยที่ฐานะไม่ดีจะได้เข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยหลายคนที่ได้เจอมีอาการดีขึ้น และบางคนกำลังจะหายขาด เป็นเรื่องน่ายินดี พ่อไม่ได้เข้าโรงพยาบาลบ่อยนัก เท่าที่จำได้ ผมเห็นพ่อเข้าโรงพยาบาลสองครั้งคือตอนที่โดนรถชนกับครั้งสุดท้ายที่เป็นมะเร็งและจากโลกนี้ไป หลายคนอาจมองว่าระบบสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระที่ส่วนรวมต้องร่วมจ่ายให้กับคนอื่น แต่สำหรับผมนี่คือโครงการที่จะทำให้ผู้คนที่ฐานะยากจน ผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้หลายคนรอดชีวิต โรคบางโรคอาจใช้เงินที่เราหามาทั้งชีวิตในการรักษา หรือถ้ามันเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวใครซักคนหนึ่งที่หาเช้ากินค่ำ มันอาจทำให้เขาต้องเป็นหนี้ก้อนโตไปตลอดชีวิต สิทธิใดๆในการรักษาความป่วยไข้นั้นไม่มีใครอยากใช้ ใครจะอยากป่วยอยากไปโรงพยาบาล
ข่าวคราวการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยการเพิ่มสัดส่วนของกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ และอาจส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ตรงตามเป้าหมายที่ว่า “คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”
การรักษาสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่ในประเทศที่อาหารการกินเต็มไปด้วยสารพิษ สารตกค้างจากเคมี พื้นที่ที่อากาศไม่บริสุทธิ์และมลพิษต่างๆนานา เราไม่รู้หรอกว่าเราจะเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไหร่ หันไปดูรอบๆตัวเราถ้าไม่ได้ร่ำรวยมาก เราก็มีทางเลือกไม่มากเช่นกัน การเอื้อเฟื้อให้กับคนที่อยู่ร่วมโลก ร่วมประเทศเดียวกันผมว่ามันมีคุณค่ากว่าที่จะทำบุญเพื่อมอบให้กับเทวดาองค์ใดเสียอีก ผ่านไปสี่เดือนพ่ออาการไม่ดีขึ้นและทรุดลงเรื่อยๆ
เมื่อมองไปในแววตาของพ่อผ่านเลนส์กล้อง ผมเห็นหัวใจของพ่อชัดเจน พ่อยอมรับในชะตาตัวเอง ไม่มีความกลัวใดๆ มีเพียงความห่วงใยต่อครอบครัว วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ผมอยู่รถเมล์ ป.2 สายหมอชิต-สุพรรณบุรี เป็นเที่ยวเดินทางที่ยาวนานที่สุดในชีวิต เป็นเที่ยวเดินทางที่เศร้าที่สุด ระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตรเจิ่งนองด้วยน้ำตา เพราะผมต้องอยู่ในโลกใบนี้โดยที่ไม่มี “พ่อ” อีกต่อไป
Text&Photos : ©CHALIT SAPHAPHAK / REALFRAME
Edited by Yostorn Triyos
e-mail : chalit.saphaphak@gmail.com