top of page

Wild honey : คน.. ผึ้ง.. ป่า

คนกับผึ้งช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้ผืนป่า

ปรากฎการณ์“การล่มสลายของผึ้ง”ในยุโรปและอเมริกาเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เพราะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรม ผึ้งป่ามีบทบาทสำคัญในการผสมเกสรของพืชผลทางการเกษตร โดยสาเหตุมีด้วยกันหลายอย่างทั้งการถูกทำลายที่อยู่อาศัย สารเคมี ปรสิต และสภาพภูมิอากาศแปรปวน อย่างไรก็แล้วแต่ นั่นเป็นปัญหาที่จะกระทบต่อการผลิตอาหารของมนุษย์เราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอแห่งหนึ่งในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างคนกับผึ้งป่าที่ช่วยกันสร้างป่าให้อุดมสมบูรณ์ ให้ความมั่นคงทางอาหาร รักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ รวมทั้งสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน

ผึ้งโพรง..คนสร้างรัง ผึ้งสร้างอาหาร

บ้านห้วยหินลาดในตั้งอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ของอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาวไหลลงสู่แม่น้ำโขง ช่วงปี พ.ศ. 2529-2531 รัฐให้สัมปทานป่าไม้ ป่าไม้ถูกทำลายอย่างหนัก สัตว์ป่าสูญสิ้นไปจากป่า ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไปอย่างมาก แม้ในปี พ.ศ. 2532 รัฐจะประกาศยกเลิกสัมปทานและปิดป่า ชาวบ้านก็ยังต้องมาต่อสู้กับการจัดการลุ่มน้ำของรัฐอีก โดยให้ย้ายคนออกจากพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกไปโดยปริยาย แต่กระนั้นพวกเขายังคงต่อสู้และทำทุกวิถีทางให้ทุกคนรู้ว่าวิถีการอยู่ร่วมกับป่าของพวกเขานั้นไม่ใช่การทำลายป่า

ผมเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขาตามถนนที่ใช้ขนไม้ในอดีต มองไกลออกไปคือภาพของภูเขาสลับซับซ้อน และผืนป่าเขียวขจีทอดยาวไกลสุดสายตา บนทางเดินแคบๆชายรูปร่างสูงโปร่งข้างหน้าผมคือพ่อหลวงชัยประเสริฐ โพคะ ผู้นำชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน เราเดินผ่านต้นไม้น้อยใหญ่ ผมสังเกตุเห็นต้นหนึ่งที่ใหญ่กว่าต้นอื่น“ต้นนี้ชาวบ้านขอไว้ไม่ให้ตัด”พ่อหลวงพูด

พ้นจากป่าทึบเราก็มาถึง “ไร่เหล่า” หรือไร่ที่ทิ้งไว้จากการทำข้าวไร่ ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่เรียกว่า “ไร่หมุนเวียน” (Rotational Farmimg) แตกต่างจากไร่เลื่อนลอยอย่างที่หลายคนรับรู้มา

ดอกสาบเสือกำลังร่วงโรย ใบหนาดเขียวขจี ไร่ข้าวเมื่อปีที่แล้วถูกห่มด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ตอไม้ที่ผูกเผาจนดำสนิทเมื่อปีที่แล้วบัดนี้แตกกิ่งก้านสูงท่วมหัว กองฟางผุกร่อนกำลังย่อยสลายเป็นปุ๋ยอย่างดี ต้นมะเขือ พริก ตะไคร้ และผักอื่นๆกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ กระท่อมไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยใบค้อหลังเดิมที่ผมเคยจิบชาร้อนนั่งดูฝนเมื่อปีก่อนเก่าโทรมลงไป ในนั้นมีรังผึ้งที่พ่อหลวงเอามาตั้งไว้ รังผึ้งทำด้วยไม้ประกอบขึ้นเป็นกล่องสี่เหลี่ยมบ้าง หรือนำท่อนไม้มาเจาะให้เป็นโพรงบ้างแล้วปิดฝาหัวท้ายเจาะรูเล็กๆให้ผึ้งเข้าออกได้ ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมผึ้งจะสะสมน้ำหวานไว้เต็มรังไม้ และตัวอ่อนผึ้งก็ฟักเป็นตัวเกือบหมดแล้ว ชาวบ้านจะเก็บน้ำผึ้งในช่วงนี้ที่เรียกกันว่า “น้ำผึ้งเดือนห้า” นั่นเอง

ในไร่หมุนเวียนที่ทิ้งไว้หนึ่งถึงสองปีจะเต็มไปด้วยพืชผักและวัชพืชที่มีดอกหลากหลายชนิดซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารของผึ้ง พืชพรรณเหล่านี้ปราศจากสารเคมีทั้งยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงจึงไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง ทำให้ชาวบ้านได้น้ำผึ้งที่บริสุทธิ์พ่อหลวงจัดแจ้งใส่ชุดป้องกันผึ้งที่ทำขึ้นเองโดยหมวกที่สานขึ้นด้วยหวายเย็บด้วยผ้าหนาและผ้ามุ้ง แล้วค่อยๆใช้ขวานหัวค้อนงัดตะปูออก ผึ้งแตกรังบินหึ่งไปทั่วกระท่อมแต่ไม่ต่อยเรา ผมยืนดูอยู่ห่างๆ ก่อนได้รับสัญญาณจากพ่อหลวงว่า “ผึ้งรังนี้ไม่ดุ” ให้เข้าไปใกล้ๆได้ กลิ่นน้ำผึ้งหอมฟุ้ง พ่อหลวงค่อยๆบรรจงใช้มีดปาดรังผึ้งออกจากกล่องไม้ทีละแผ่นแล้วตัดเอาไปแต่น้ำหัว ทิ้งรังไว้ให้ตัวอ่อนฟักออกจากรัง ราวครึ่งชั่วโมงพอหลวงก็เก็บน้ำผึ้งเสร็จโดยทิ้งน้ำผึ้งไว้ส่วนหนึ่งเพื่อให้ผึ้งได้ใช้เลี้ยงตัวอ่อนและสร้างรังใหม่ต่อไป

ผึ้งหลวง พญาผึ้งบนเรือนยอด

ป่าวนเกษตรคือป่าที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งอาหารและผลผลิตอื่นของหมู่บ้าน ในป่าวนเกษตรนี้มีผลผลิตต่างๆให้เก็บตลอดทั้งปีตามฤดูกาล ป่าส่วนนี้จะไม่ถูกตัดถางแม้แต่น้อย ผมเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขาแล้วดิ่งลงหุบสองข้างทางมีต้นไม้หนาแน่น ทั้งไม้ใหญ่สูงจนต้องแหงนคอตั้งบ่าและไม้ขนาดกลาง ใต้ต้นไม้เหล่านั้นมีต้นชาขึ้นแซมอยู่ทั่วไป

ผมเดินตามพี่สุภวงศ์ ปะปะ หรือพี่วงศ์ไปจนถึงใต้ต้นไม้ใหญ่สูงราวสามสิบเมตร บนนั้นมีผึ้งหลวงรังใหญ่เกาะอยู่บนเรือนยอด พี่วงศ์เป็นพรานผึ้งหลวงหนึ่งในสามคนของหมู่บ้าน เนื่องจากผึ้งหลวงมักทำรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่ที่สูงชัน บางต้นสูงร่วมสี่สิบเมตร และผึ้งหลวงดุกว่าผึ้งโพรง จึงมีไม่กี่คนที่สามารถขึ้นไปเอาน้ำหวานของผึ้งหลวงได้ คนที่ขึ้นผึ้งหลวงได้ต้องแข็งแรงและมีความชำนาญ อุปกรณ์ป้องกันต้องมิดชิด การตอก“ทอยไม้ไผ่”ขึ้นไปใช้พละกำลังมาก เมื่อโดนผึ้งโจมตีก็ต้องหาทางป้องกันให้ได้

ทอยไม้ไผ่ถูกตอกลงบนต้นไม้ใหญ่ดังสนั่นป่าทีละอันทีละก้าวร่วมสองชั่วโมง พี่วงศ์ก็ลงมาใส่ชุดป้องกันผึ้ง ก่อนจะปีนทอยกลับขึ้นไปพร้อมกับปีบและเถาวัลย์รางจืดที่จุดไฟเพื่อให้เกิดควัน ที่ต้องใช้รางจืดเพราะเมื่อสะเก็ดไฟหล่นลงมามันจะดับตั้งแต่กลางอากาศ ไม่หล่นลงมาถึงพื้นด้านล่างที่มีใบไม้แห้งทับถมอยู่ซึ่งจะทำให้ไฟไหม้ป่าได้

เมื่อขึ้นไปถึงรังผึ้งแล้ว พรานผึ้งจะใช้มีดปาดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำหวานเท่านั้นแล้วปล่อยรังผึ้งไว้ให้ตัวอ่อนฟักเพื่อขยายพันธุ์แล้วสร้างน้ำหวานขึ้นใหม่ โดยผึ้งหลวงส่วนใหญ่จะกินดอกไม้ยืนต้นที่อยู่สูง น้ำหวานของผึ้งหลวงหนึ่งรังจะอยู่ที่ราวๆ 10-15 กิโลกรัม พรานจะเอาน้ำหวานใส่ปีบแล้วค่อยๆหย่อนลงมาให้ผู้ช่วยที่รออยู่ด้านล่างคอยรับ

ผมกระหืดกระหอบอยู่บนเนินสูงที่ไม่รู้ทิศทางหลังจากวิ่งหนีผึ้งสี่ห้าตัวที่ไล่ตามมาจากรังสูงบนต้นไม้ในป่าวนเกษตร เมื่อคิดว่าปลอดภัยดีแล้วผมค่อยๆถอดหมวกปีกที่มีมุ้งคลุมอีกชั้นออก ถอดเสื้อคลุมออกมาแล้วค่อยๆถอนเหล็กในที่ผึ้งหลวงฝากไว้สี่ห้าอันออกจากเสื้อและหมวก นั่นก็ตื่นเต้นมากแล้ว แต่พอมาเห็นเหล็กในที่ฝังอยู่บนชุดของพรานที่ขึ้นไปเอาน้ำหวานผึ้งหลวงรังนั้น ที่ติดอยู่กับเสื้อผมก็ดูเล็กน้อยไปเลย เหล็กในนับร้อยอันปักเต็มชุดของพรานไปหมด

คน.. ผึ้ง.. ป่า..

รู้กันดีว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ บางคนเกิดมาใช้ที่ทำกินแค่หน้าจอสี่เหลี่ยมกับห้องเล็กๆ บางคนมีที่ทางเป็นร้อยเป็นพันไร่ บางคนเกิดมาในป่าบนภูเขาเช่นเดียวกันกับชาวปกาเกอะญอ ทุกคนล้วนต้องการที่ทำกินทั้งนั้น ชาวปกาเกอะญอมีที่ทำกินอยู่ในป่า บนภูเขา สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่างน้อยก็หลักร้อยปี ใช้ชีวิตกินอยู่อย่างยั่งยืน เพราะป่าคือบ้าน ป่าคือชีวิต พวกเขาจึงรักป่าดูแลป่า คนที่อยู่ในป่าเขาจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้ทำงานในป่า เช่นเดียวกันกับผึ้งป่า พวกมันอยู่มาเนิ่นนานในป่า พวกมันต้องการแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย เมื่อผึ้งไม่ถูกคุกคามจากสารเคมี ไม่ถูกรุกรานที่อยู่อาศัย มันก็จะให้น้ำหวานที่บริสุทธิ์รวมทั้งยังทำหน้าที่สำคัญคือผสมเกสรสร้างความหลากหลายและแข็งแรงให้พืชพรรณ สร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนและมนุษย์อย่างเราได้ใช้ประโยชน์

น้ำผึ้งหินลาดในถือเป็นน้ำผึ้งธรรมชาติที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ชาวบ้านที่นี่เก็บน้ำผึ้งไว้ใช้บริโภคในครัวเรือนทั้งปรุงอาหารและผสมกับสมุนไพรทำยารักษาโรค ส่วนที่เหลือนำออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ HOSTBEEHIVE ที่ทำการตลาดโดยกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ของชุมชน ขณะเดียวกันเยาวชนที่นี่จะได้เรียนรู้วิธีการและองค์ความรู้ต่างๆของการทำผึ้งแบบธรรมชาตินี้สืบต่อไปด้วย รายได้จากการขายน้ำผึ้งของชาวบ้านจะแบ่งปันส่วนหนึ่งเข้ากองทุนเพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนของชุมชน น้ำผึ้งหินลาดในกระจายไปทั่วกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ ในครัวของเชฟชื่อดังหลายที่มีน้ำผึ้งหินลาดในใช้เติมความหวานของอาหาร

ครั้งหนึ่งมีคนมาสั่งน้ำผึ้งหินลาดในจำนวนมาก แต่คำตอบจากพ่อหลวงคือ “ธรรมชาติให้มาแค่นี้” เป็นถ้อยคำที่ผมจดจำได้ดี มันชัดเจนเหลือเกินที่จะกล่าวถึงความพอดีและยั่งยืน เป็นความเคารพต่อธรรมชาติอย่างที่สุด ถ้ามันตอบโจทย์ธุรกิจแต่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติพวกเขาก็ไม่เอาด้วยเหมือนกัน

ทุกวันที่ผมอยู่ในหมู่บ้านเป็นเวลาร่วมสัปดาห์มีแขกมาเยี่ยมเยือนบ้านห้วยหินลาดในไม่เว้นแต่ละวัน เป็นความสำเร็จของชุมชนที่ไม่ต้องอวดอ้างใดๆ เพราะความมั่นคงในวิถี ความเคารพในธรรมชาติ และความบริสุทธิ์ของหัวจิตหัวใจคนรักป่า ที่นี่จึงมีเสน่ห์ดึงดูดให้หลายคนอยากไปดูด้วยตาตัวเอง

ตีพิมพ์ในนิตยสารอนุรักษ์ ฉบับ สิงหาคม 2560

Text&Photos : ©CHALIT SAPHAPHAK / REALFRAME

Edited by Chansupa Chomkul

e-mail : chalit.saphaphak@gmail.com

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page